(แฟ้มภาพซินหัว : ร้านแมคโดนัลด์ในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ วันที่ 23 ก.ค. 2010)
ลอสแอนเจลิส, 26 ต.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (25 ต.ค.) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ ยืนยันพบผู้คนล้มป่วยจากการระบาดของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. coli) ที่เชื่อมโยงกับเบอร์เกอร์ควอเตอร์ พาวน์เดอร์ของร้านแมคโดนัลด์ เพิ่มเป็นอย่างน้อย 75 รายแล้วใน 13 รัฐของสหรัฐฯ จากเดิมที่พบผู้ป่วย 49 ราย ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิต 1 รายช่วงก่อนหน้าในสัปดาห์นี้
จากข้อมูลผู้ป่วยที่มีอยู่ 61 ราย พบผู้ป่วย 22 รายเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และ 2 รายมีอาการเม็ดเลือดแดงแตกและยูรีเมีย (HUS) ซึ่งเป็นภาวะร้ายแรงที่อาจทำให้ไตวายได้
ศูนย์ฯ ระบุว่าแมคโดนัลด์กำลังร่วมมือกับหน่วยงานสอบสวนเพื่อค้นหาว่าส่วนผสมชนิดใดในเบอร์เกอร์ควอเตอร์ พาวน์เดอร์ที่ทำให้ผู้คนล้มป่วย โดยแมคโดนัลด์หยุดใช้หัวหอมหั่นสดและเนื้อบดควอเตอร์ พาวน์เดอร์ในหลายรัฐแล้ว ขณะที่การสอบสวนยังคงดำเนินต่อไปเพื่อระบุส่วนผสมที่ทำให้เกิดอาการป่วย
"จำนวนผู้ป่วยที่แท้จริงน่าจะสูงกว่าตัวเลขที่มีรายงานมาก และการระบาดครั้งนี้อาจไม่จำกัดอยู่แค่ในรัฐที่มีรายงานโรคเท่านั้น เนื่องจากผู้คนจำนวนมากหายเองได้โดยไม่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ และไม่ได้ตรวจหาเชื้ออีโคไล" ศูนย์ฯ เตือน พร้อมเสริมว่า "กรณีการเจ็บป่วยใหม่ล่าสุดอาจยังไม่มีรายงาน เพราะปกติแล้วต้องใช้เวลา 3-4 สัปดาห์จึงจะระบุได้ว่าผู้ป่วยรายใดเป็นส่วนหนึ่งของการระบาด"
เทย์เลอร์ ฟาร์ม (Taylor Farms) ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หัวหอมหั่นให้กับร้านแมคโดนัลด์ที่ได้รับผลกระทบ ได้เริ่มดำเนินการเรียกคืนสินค้าโดยสมัครใจและขอให้ลูกค้าหยุดใช้หัวหอมบางชนิดระหว่างที่มีการสอบสวน โดยบริษัทเป็นผู้ผลิตผลไม้และผักสดหั่นซึ่งมีฐานอยู่ในแคลิฟอร์เนีย
เบอร์เกอร์ควอเตอร์ พาวน์เดอร์จะหยุดวางจำหน่ายชั่วคราวในบางรัฐ ขณะที่แมคโดนัลด์ทำการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบบางส่วน โดยร้านสาขาในโคโลราโด แคนซัส ยูทาห์ ไวโอมิง และบางส่วนของไอดาโฮ ไอโอวา มิสซูรี มอนทานา เนแบรสกา เนวาดา นิวเม็กซิโก และโอคลาโฮมา ได้หยุดใช้หัวหอมและเนื้อบดล็อตปัจจุบันสำหรับเบอร์เกอร์ชนิดนี้ชั่วคราว
มีรายงานว่าเครือร้านฟาสต์ฟู้ดบางแห่ง เช่น เคเอฟซี พิซซ่าฮัท ทาโก้ เบลล์ และเบอร์เกอร์ คิง กำลังทยอยเลิกใช้หัวหอมเป็นวัตถุดิบในสาขาบางแห่ง ท่ามกลางการระบาดของเชื้ออีโคไล
ทั้งนี้ อีโคไลเป็นกลุ่มแบคทีเรียที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในลำไส้ ระบบทางเดินปัสสาวะ และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยส่วนใหญ่แล้วแบคทีเรียชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่บางสายพันธุ์อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียเป็นน้ำ อาเจียน และมีไข้